หลายคนอาจจะเคยได้ยินว่า วันวาเลนไทน์ มีที่มาจากนักบุญหรือเซนต์ผู้มีนามว่า วาเลนไทน์ แต่ก็ไม่รู้ที่มาที่ไปอย่างแน่ชัดว่านักบุญคนนี้เป็นใคร มาจากไหน และไปเกี่ยวข้องกับ ‘วันแห่งความรัก’ ได้อย่างไร วันนี้ Fallinread จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับที่มาที่ไปของวันแห่งความรักในแง่มุมของบันทึกทางประวัติศาสตร์และศาสนากันค่ะ
เชื่อหรือไม่ว่า แรกเริ่มเดิมทีวันวาเลนไทน์ ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับความโรแมนติกเลยแม้แต่น้อย จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ ย้อนกลับไปในสมัยราว ค.ศ. 269 มีคริสต์ศาสนิกชนจำนวนไม่น้อยที่ถูกทรมานจนตาย หรือถูกลงโทษให้ประหารชีวิตเพราะมีความเชื่อทางศาสนาแตกต่างจากคนบางกลุ่ม วิธีทรมานต่าง ๆ มีทั้งถูกขว้างด้วยก้อนหินให้ตาย ถูกตรึงกางเขน ถูกเผาทั้งเป็น และวิธีอื่น ๆ ที่โหดร้ายทารุณ ซึ่ง นักบุญวาเลนไทน์แห่งโรม เป็นหนึ่งในนักบวชผู้พลีชีพเพื่อศาสนาเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ศพของเขาฝังอยู่ที่ถนนเวียฟลามีเนีย ส่วนกะโหลกที่สวมมาลัยดอกไม้ของนักบุญวาเลนไทน์จัดแสดงในมหาวิหารซานตามาเรียในเมืองโรม ประเทศอิตาลี วันดังกล่าวจึงเป็นวันที่คริสต์ศาสนิกชนกลุ่มหนึ่งในสมัยนั้นเฉลิมฉลองและรำลึกถึงความเสียสละของนักบุญวาเลนไทน์

ที่มาของภาพ : /th.wikipedia.org
นอกจากนี้เมื่อย้อนกลับไปราว ค.ศ. 197 ในรัชสมัยของจักรพรรดิออเรเลียนมีผู้นับถือศาสนาคริสต์ถูกเบียดเบียนทรมานและเข่นฆ่าจากทั้งชาวยิวและจักรวรรดิโรมัน มีบันทึกว่า นักบุญวาเลนไทน์แห่งเทอร์นี่ เป็นหนึ่งในผู้พลีชีพเพื่อคริสตศาสนา ศพเขาฝังไว้ที่ถนนเวียฟลามีเนียเช่นกัน แต่คนละตำแหน่งกับที่ฝังร่างของวาเลนไทน์แห่งโรม
เท่านั้นยังไม่พอ ในสารานุกรมคาทอลิกที่ตีพิมพ์ในสหรัฐอเมริกาเมื่อ ค.ศ. 1907 เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับความสนใจ กิจการ และหลักความเชื่อต่าง ๆ ของคริสตจักรโรมันคาทอลิก ก็มีข้อมูลเกี่ยวกับ นักบุญวาเลนไทน์อีกหนึ่งคน ผู้ซึ่งพลีชีพเพื่อศาสนาคริสต์พร้อมกับนักบุญคนอื่น ๆ ที่แอฟริกา แม้ไม่ได้มีรายละเอียดอื่น ๆ มากนัก แต่ก็แสดงให้เห็นว่า ในประวัติศาสตร์มีนักบุญนามว่า ‘วาเลนไทน์’ มากกว่าหนึ่งคนที่เป็นมรณสักขี หมายถึง เป็นผู้นับถือศาสนาคริสต์ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกนอกรีตในสมัยนั้นจึงถูกลงโทษ ทรมาน และประหารชีวิตจนตาย
พอรู้แบบนี้แล้ว ใคร ๆ ก็ต้องสงสัยว่า วันคล้ายวันตายของนักบุญวาเลนไทน์นั้น กลายมาเป็นวันแห่งความรักได้อย่างไรกัน เพราะในยุคสมัยนั้น วันที่ 14 กุมภาพันธ์ เป็นเพียงวันเฉลิมฉลองเล็ก ๆ ในเฉพาะกลุ่มนักบุญโรมันคาทอลิก ไม่ต่างจากวันเฉลิมฉลองการเสียสละของนักบุญคนอื่น ๆ เลย
ว่ากันว่าเรื่องราวรักโรแมนติกได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับวันวาเลนไทน์ครั้งแรกช่วงยุคกลางที่ผู้คนในประเทศฝรั่งเศสและประเทศอังกฤษมีความเชื่อกันว่า วันที่ 14 กุมภาพันธ์ เป็นวันเริ่มต้นของฤดูกาลจับคู่กันของนก นำไปสู่ความคิดที่ว่าวันวาเลนไทน์ก็ควรเป็นวันแห่งความโรแมนติกนั่นเอง
ประกอบกับเรื่องราวของกวีชาวอังกฤษนามว่า จอฟฟรีย์ เชาเซอร์ ผู้เขียนบทกวีที่มีชื่อว่า ‘Parliament of Fowls’ เรื่องราวเกี่ยวกับการจับคู่กันของนก เพื่อเป็นเกียรติเนื่องในวโรกาสงานหมั้นครบหนึ่งปีของกษัตริย์ริชาร์ดที่สองของอังกฤษกับแอนแห่งโบฮีเมียน ใจความตอนหนึ่งของบทกลอนกล่าวไว้ว่า
"For this was on Saint Valentine's Day
When every bird comes there to choose his match
(Of every kind that men may think of!),
And that so huge a noise they began to make
That earth and air and tree and every lake
Was so full, that not easily was there space
For me to stand—so full was all the place."

ที่มาของภาพ : /th.wikipedia.org
นับว่างานเขียนของเซาเซอร์เป็นต้นกำเนิดของความโรแมนติกในวันวาเลนไทน์เลยก็ว่าได้ หลังจากนั้น วันวาเลนไทน์ก็ยังไปปรากฏในงานเขียนประเภทกวีของนักเขียนคนอื่น ๆ และยังมีการเขียนการ์ดอวยพรให้แก่กันสำหรับวันวาเลนไทน์ เริ่มมีการเฉลิมฉลองหลากหลายรูปแบบมากขึ้น เช่น การมอบดอกไม้ และขนมให้แก่กันแพร่หลายมาตั้งแต่ยุคกลางจนมาถึงในปัจจุบันอีกด้วย

การได้ทำความรู้จักกับวันวาเลนไทน์ในแง่มุมของบันทึกทางประวัติศาสตร์ทำให้เรารู้เรื่องราวที่มาที่ไปของวันที่ 14 กุมภาพันธ์มากขึ้น แม้ว่าการเฉลิมฉลองวันวาเลนไทน์ในปัจจุบันนั้นล้วนอบอวลไปด้วยสีสันของดอกไม้ ขนมหวาน ช็อกโกแลต และกราฟิกรูปหัวใจ ไม่ได้อ้างอิงไปถึงจุดกำเนิดในยุคกลาง ก็ไม่ถือว่าเป็นผิดแปลกใด ๆ เพราะความเชื่อของผู้คนนั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดช่วงเวลายาวนานที่ผ่านมา สิ่งสำคัญนั้นคือเรื่องราวดี ๆ ที่ผู้คนได้มีช่วงเวลาพิเศษในการส่งมอบความรู้สึกดี ๆ ให้แก่กันต่างหาก